สำหรับใครที่เป็นนักเขียนมือใหม่หรืออยากจะเข้ามาในวงการนักเขียน เชื่อว่าคงมีคำถามร้อยแปดพันประการว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เขียนแบบไหนให้ผู้อ่านถูกใจและมีลูกค้าอยากจ้างต่อ ผู้เขียนต้องบอกก่อนว่าการเป็นนักเขียนไม่ได้มีกฏเกณฑ์ที่ตายตัวหรือจะต้องกำหนดว่าทำอย่างนั้น อย่างนี้ เพียงแต่เรามีความตั้งใจ รู้จักพัฒนาตนเอง มีจรรยาบรรณในอาชีพ เพียงเท่านี้โอกาสที่จะได้เป็นนักเขียนมืออาชีพก็ไม่ยากแล้ว แต่ถ้าใครอยากจะรู้เคล็ดลับและเทคนิคดีๆในการเริ่มต้นเขียนบทความ วันนี้ เราจะพามาดูกัน

ฝึก ฝึกและฝึก 

การฝึกเขียนในขั้นต้นไม่ต้องมีกฎเกณฑ์หรือหลักการอะไรมาก เป็นการเขียนสไตล์ที่เราชอบ ถนัดเรื่องใด มีความรู้ในเรื่องไหนก็สามารถนำมาเขียนได้เลย และลองให้คนที่รู้จักหรือกรุ๊ปนักเขียนอ่านบทความของคุณดูว่ามีข้อบกพร่องที่ต้องเพิ่มเติมตรงส่วนใดหรือไม่ หากยังไม่กล้าเผยแพร่บทความออกไป ขอแนะนำว่าเมื่อเขียนเสร็จ ทิ้งบทความที่เขียนเอาไว้สัก 1 วันแล้วค่อยกลับมาอ่านในวันถัดไป เพราะหลังจากกลับมาอ่านอีกครั้ง เราจะเริ่มรู้ว่ามีพารากราฟใดที่อ่านแล้วไม่เข้าใจและต้องเพิ่มเนื้อหาอะไรลงไปบ้าง

อ่านบทความที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต 

เพื่อเก็บมาเป็นประสบการณ์ แต่ไม่ใช่คัดลอก เพราะสิ่งนี้ถือว่าผิดจรรยาบรรณในการเป็นนักเขียน  แต่ที่ให้อ่าน เพื่อดูว่างานเขียนที่มีคุณภาพนั้นเป็นอย่างไร สไตล์การเขียนเป็นแบบไหน มีรายละเอียดเชิงลึกประมาณไหน แต่ในเรื่องของข้อมูลและสำนวนในการเขียน ลองฝึกเขียนบ่อยๆ เชื่อเถอะว่าสำนวนเหล่านี้จะปรากฏขึ้นมาจนเป็นเอกลักษณ์ของคุณเอง แต่ทั้งนี้ ก่อนรับงาน ก็ควรสอบถามผู้จ้างก่อนว่าให้เขียนในลักษณะใดจะดีกว่า เพราะบางรายก็ต้องการสำนวนเชิงวิชาการ ตลกขบขัน รวมทั้งการเขียนแบบเล่าเรื่อง

รู้จักหลักการเขียนให้ถูกต้อง

สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นนักเขียนมือใหม่คือ การรู้จักกับการเขียนที่ถูกต้อง นั่นคือ หลักการใช้ภาษา เว้นวรรค คำถูก คำผิด เพื่อทำให้งานเขียนบทความมีคุณภาพ ซึ่งการใช้หลักการเขียนอย่างถูกต้อง สามารถหาข้อมูลได้ตามอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะมีข้อมูลทุกอย่างที่นักเขียนมือใหม่ควรเรียนรู้ไว้หมดแล้ว ส่วนเรื่องคำผิด คำถูก แนะนำให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของ ราชบัณฑิตยสถาน เอาไว้ เผื่อเวลาทำงานให้ผู้จ้างเสร็จ แล้วมีคำไหนที่ไม่แน่ใจ จะได้คอยตรวจเช็คให้ถูกต้องได้แบบ 100 %

กำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน 

การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ การศึกษา อาชีพ ทัศนคติ เป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากลักษณะของผู้อ่านแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น การใช้ถ้อยคำ สำนวนในบทความก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย ในขั้นตอนนี้ หากยังเป็นมือใหม่อยู่ ให้สอบถามผู้จ้างว่าต้องการสำนวนการเขียนประมาณไหน หากได้สำนวนที่ไม่ถนัด ก็ควรปฏิเสธไปตรงๆ อย่าฝืนทำ เพราะอาจส่งผลให้งานไม่มีคุณภาพได้ โดยเฉพาะการเขียนบทความวิชาการจะมีความยากกว่าบทความแนวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ภาษาและข้อมูลในเชิงลึก

รู้จักฐานข้อมูลให้หลากหลาย

การจะเขียนบทความคุณภาพได้สักบทความหนึ่ง สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ เรื่องของข้อมูล การหาข้อมูลส่วนใหญ่ของนักเขียน นอกจากจะนิยมใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว ในส่วนของหนังสือ นิตยาสาร ข่าวสารต่างๆก็มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะจะทำให้ข้อมูลที่คุณได้รับมีความหลากหลายและสดใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะการติดตามข่าวสารประจำวันทางโทรทัศน์ ถือเป็นการอัพเดทความรู้ใหม่ๆที่ดีมากทางหนึ่ง แถมยังมีความน่าเชื่อถือสูงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การหาข้อมูลในด้านอื่นๆ ข้อควรระวังคือ ความน่าเชื่อถือ เพราะสื่อออนไลน์ในอินเทอร์เน็ต มีทั้งข่าวลือและข่าวเท็จ เพื่อสร้างมาเพื่อเรียกยอดวิว ยอดไลท์ การคลิกเข้ามาชม เพราะฉะนั้น การเป็นนักเขียนบทความที่มีคุณภาพต้องหมั่นพิจารณาข้อมูลที่อ่านและเลือกนำมาอ้างอิงด้วย ไม่อย่างนั้น หากเจอข้อมูลที่ส่งผลเสียต่อบุคคลอื่นขึ้นมา คุณอาจถูกฟ้องร้องโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ เป็นสิ่งสำคัญที่นักเขียนทั้งหน้าและหน้าใหม่พึงระวังไว้ให้ดี

ฝึกการใช้ Word press

จะเข้ามาในตลาดนักเขียนทั้งที ก็ต้องฝึกเรียนรู้เจ้าเครื่องมือตัวนี้กันบ้าง เพราะเป็นโปรแกรมสร้างเว็บไซต์ สำเร็จรูปที่ผู้ใช้งานนิยมใช้เป็นจำนวนมาก เพราะ Word Press ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้ง การจัดการดูแลเนื้อหาภายใน การตกแต่งบทความ รวมทั้งการปรับค่าต่างๆ โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการเขียนโปรแกรมเลยก็ได้ นอกจากนี้ ข้อดีของมันคือ ยังสนับสนุนการทำ SEO อีกด้วย ทำให้เว็บไซต์มีโอกาสสูงในการขึ้นอันดับต้นๆ ของการค้นหาข้อมูลใน Search Engine อย่าง Google

เหตุผลที่ต้องฝึกใช้งานให้เป็น เนื่องจาก ผู้จ้างบางรายอาจจะให้นักเขียน เขียนบทความลงใน Word press แทนการส่งงานผ่านอีเมลเลยก็ได้ เพราะการทำงานผ่าน Word press จะทำให้ทั้งผู้จ้าง – นักเขียน ง่ายต่อการตรวจสอบ แก้ไขและอัพเดทบทความลงเว็บไซน์ ดังนั้น หากมีความสามารถในด้านนี้ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ส่งผลต่อการพิจารณาจ้างเขียนบทความเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ก็คือ 6 วิธีเริ่มต้นเขียนบทความง่ายๆที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ สิ่งสำคัญคือ อย่ากลัวที่จะต้องเผชิญกับตลาดนักเขียนที่ร้อนแรงและมีการแข่งขันสูง ขอแค่หมั่นพัฒนาตนเองและเก็บประสบการณ์ มั่นใจได้เลยว่าผู้จ้างจะต้องมองเห็นผลงานของคุณอย่างแน่นอน ดั่งคำกล่าวที่ว่า เพชรอยู่ที่ไหนก็เป็นเพชร…

 

 

 


อาจารย์ต้น
อาจารย์ต้น

สวัสดีครับ ผมชื่ออาจารย์ต้น ผมรักการเขียนบทความ SEO มาตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันผ่านเว็บ articleheros.com ปัจจุบันสนใจค้นคว้า วิธีหาเงินออนไลน์ การลงทุนออนไลน์ และเขียนบทความแบ่งปันทุก ๆ คนในรูปแบบคู่มือ ที่คุณสามารถอ่านและเอาไปใช้งานได้จริง อย่าลืมกด subscription กันนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published.