การเขียนบทความวิชาการที่ดี เป็นศิลปะของการถ่ายทอดอย่างหนึ่ง เพราะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในเนื้อหา โดยเฉพาะเนื้อหาที่เข้าถึงยาก แต่สามารถทำให้คนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการนั้นๆสามารถเข้าใจได้ ซึ่งต้องใช้ทักษะและเทคนิคการเขียนพอสมควร แต่ทั้งนี้ การเขียนบทความวิชาการให้มีคุณภาพก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าใครเป็นมือใหม่อาจจะต้องใช้เวลาฝึกฝนกันสักหน่อย เพราะของแบบนี้ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจและการพัฒนาของแต่ละคน ซึ่งเทคนิคหลักๆที่จะต้องมี ผู้เขียนได้รวบรวมมาไว้ ณ บทความนี้แล้ว

เข้าใจว่าบทความที่เขียนว่ามีวัตถุประสงค์อะไร 

ผู้เขียนต้องทราบว่าบทความที่จะเขียนมีคอนเซ็ปต์อะไร ต้องการสื่อถึงผู้อ่านกลุ่มไหน เพื่อจะได้วางโครงเรื่องและใช้ภาษาให้เหมาะสมกับบริบทของบทความ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นงานเขียนทางวิชาการ ควรใช้ภาษาที่เป็นทางการ ไม่เขียนแบบล้อเลียนหรือใช้ภาษาวิบัติ ที่สำคัญคือ อย่าลืมเรื่องการให้เครดิตข้อมูลที่นำมาอ้างอิง เพราะการเขียนบทความแนวนี้ จำเป็นต้องใช้หลักฐานและเอกสารข้อมูลในแหล่งอื่นๆ มาช่วยยืนยันและสนับสนุนข้อมูลที่เขียนด้วยเสมอ

เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้

การเขียนบทความวิชาการที่ดี ผู้เขียนจะต้องเข้าใจและเข้าถึงเนื้อหาที่จะใช้เขียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งในข้อนี้มีความสำคัญมาก เพราะจะต้องนำข้อมูลที่ได้มาถ่ายทอดให้ผู้อ่านเข้าใจ อย่าลืมว่า งานเขียนวิชาการ บางครั้งใครที่ไม่ได้อยู่ในวงการนั้นๆ จะไม่รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไร ใช้ประโยชน์อย่างไร ยิ่งมีคำศัพท์เฉพาะ ยิ่งทำให้เข้าใจยากเข้าไปอีก ตัวอย่างเช่น เขียนบทความเรื่อง ระบบประมวลผลกลุ่มเมฆ ผู้เขียนต้องเข้าใจว่าจะทำอย่างไรให้ผู้อ่านเข้าใจว่าสิ่งนี้คืออะไร นั่นจึงถือว่าการเขียนบทความวิชาการของคุณประสบความสำเร็จ

พาดหัวข้อและจับประเด็นให้อยู่หมัด 

เวลาตั้งชื่อหัวข้อของบทความ ควรใช้คำที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกอยากอ่านและต้องมีความหมายครอบคลุมกับเนื้อหาที่เขียน เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าบทความนี้จะเอ่ยถึงอะไร ตัวอย่างเช่น ในบทความนี้กล่าวถึงเทคนิคต่างๆในการเขียนบทความวิชาการ ก็ตั้งชื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่นำมาเขียน รวมถึงย่อหน้าในแต่ละพารากราฟ โดยประเด็นย่อยเหล่านี้ต้องไปในทางเดียวกับคำพาดหัวด้วย

เรียบเรียงประโยคให้ดี  

นักเขียนมือใหม่หลายคนมักลืมใส่คำเชื่อม จนทำให้การอ่านเกิดสะดุดและดูไม่ลื่นไหล เทคนิคง่ายๆในการร้อยเรียงประโยคในบทความวิชาการ รวมทั้งบทความประเภทอื่น ทำได้โดย เมื่อเขียนเสร็จ ให้พักไว้สักครู่แล้วค่อยกลับมาอ่านอีกครั้ง ในระหว่างที่อ่านทวน หากเจอประโยคไหนหรือข้อความใดที่อ่านแล้วเกิดสะดุด ดูไม่ลื่นไหลและไม่คล้องจองกับเนื้อหาโดยรวม ก็ให้ทำการแก้ไขหรือเรียบเรียงใหม่จะดีกว่า

เขียนโครงร่างของบทความ  

การสร้างโครงเรื่องของบทความวิชาการ มีความหลากหลายมาก แต่หลักๆจะมีต้องมี หัวข้อเรื่อง บทนำ เนื้อเรื่องและบทสรุป ซึ่งสไตล์การเขียนแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะขึ้นต้นบทนำด้วยประโยคที่ชวนให้คิดตาม ตั้งคำถาม หรือกล่าวแบบกว้างๆแล้วค่อยลงลึกไปในรายละเอียด โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้ในบทความวิชาการได้แก่

  • บทนำ ให้ผู้อ่านทราบคร่าวๆว่าเนื้อหาในบทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องใดบ้าง เพื่อให้เข้าถึงเนื้อเรื่องได้เร็วขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บทความวิชาการเกี่ยวกับแผงโซลาร์เซลล์ อาจจะเกริ่นคร่าวๆถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ก่อนจะเอ่ยถึงพลังงานโซลลาร์เซลล์ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนกับพลังงานไฟฟ้าได้ ก่อนจะกล่าวถึงความหมายและเนื้อหาในส่วนต่างๆที่จะกล่าวถึงในบทความต่อไป
  • เนื้อเรื่อง ส่วนที่บรรยายรายละเอียด ซึ่งผู้เขียนต้องสื่อถึงผู้อ่าน โดยผู้เขียนต้องรู้รายละเอียดเกี่ยวกับ เรื่องที่เขียนพอสมควร ซึ่งการเขียนบทความทั่วไปกับบทความวิชาการ จะแตกต่างกันตรงที่บทความทั่วไป สามารถหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ ประสบการณ์ใกล้ตัวมาเขียนเองได้เลย แต่สำหรับบทความวิชาการ บางครั้งผู้เขียนจะต้องไปหาข้อมูลปฐมภูมิด้วยตนเอง เช่น การสัมภาษณ์จากผู้รู้ การวิจัยด้วยตนเองหรือทำทั้งสองอย่างประกอบกัน
  • บทสรุป ส่วนปิดท้ายของบทความ สามารถทำได้หลายแบบ เช่น อาจจะสรุปประเด็นแล้วให้ผู้อ่านได้คิดกันต่อ อาทิ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรหันมาใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หรือจะเป็นการปิดท้ายบทความแบบสรุปประเด็น อาทิ การใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์นั้นมีประโยชน์ ดังนั้น ควรหันมาให้ความรู้และส่งเสริมการใช้พลังงานด้านนี้กันดีกว่า ส่วนใครที่สัมภาษณ์ผู้อื่น อาจจะกล่าวในสรุปสุดท้าย เพื่อเป็นการขอบคุณก็สามารถทำได้เช่นกัน

อย่าลืมทบทวนและแก้ไขบทความ 

เมื่อเขียนบทความเสร็จแล้ว ผู้เขียนควรมีการทบทวนแก้ไข สิ่งสำคัญคือ ควรตรวจทานในเรื่องของการใช้ภาษาที่ฟุ่มเฟือย การสะกดคำ คำเชื่อมและเว้นวรรคที่ถูกต้องตามหลักของภาษา นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบเอกสารอ้างอิงต่างๆที่นำมาใช้อีกครั้งว่าถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ เนื่องจากการเขียนบทความวิจัยและบทความวิชาการ จำเป็นต้องอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งที่มาต่างๆ เพื่อให้บทความมีความน่าเชื่อถือ ไม่กล่าวลอยๆโดยที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน

ทั้ง 6 เทคนิคนี้ ใครที่สนใจหรือได้รับโจทย์เกี่ยวกับการเขียนบทความวิชาการ ก็สามารถนำเทคนิคดังกล่าวนี้ไปประยุกต์ใช้กันได้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนมือใหม่ นักเรียน นักศึกษาที่ต้องทำบทความวิชาการส่งอาจารย์ สามารถนำไปใช้ได้เลย แต่ที่สำคัญ อย่าลืม หมั่นฝึกฝน พัฒนาตนเองจนเกิดความชำนาญ เพียงเท่านี้ก็สามารถเขียนบทความวิชาการออกมาได้อย่างมีคุณภาพ กระชับ ต่อเนื่องและมีความน่าอ่านแบบไม่น่าเบื่อแล้ว

 

 

 


อาจารย์ต้น
อาจารย์ต้น

สวัสดีครับ ผมชื่ออาจารย์ต้น ผมรักการเขียนบทความ SEO มาตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันผ่านเว็บ articleheros.com ปัจจุบันสนใจค้นคว้า วิธีหาเงินออนไลน์ การลงทุนออนไลน์ และเขียนบทความแบ่งปันทุก ๆ คนในรูปแบบคู่มือ ที่คุณสามารถอ่านและเอาไปใช้งานได้จริง อย่าลืมกด subscription กันนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published.