เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีปัญหาเวลาที่เขียนบทความแล้วเกิดขาดไอเดียขึ้นมา จนไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไร จบอย่างไร เกริ่นนำยังไง ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยประสบกับปัญหานี้มาก่อน โดยเฉพาะบทความเฉพาะทางที่บางครั้งก็ไม่สามารถค้นหาได้ง่ายๆทางอินเตอร์เน็ตหรือในหนังสือ วันนี้ เพื่อลดปัญหาสมองตีบตัน ผู้เขียนจึงขอมาแชร์วิธีหาไอเดียดีๆในการเขียนบทความมาฝากผู้อ่านทุกท่านกัน รับรองว่าใครที่เจอกับปัญหานี้อยู่ บทความนี้จะช่วยคุณได้อย่างแน่นอน

หาไอเดียจากการเขียน Mind Map

เวลาคิดอะไรได้ให้เขียนออกมา แล้วลองนำมาเชื่อมโยงกันดู แม้บางอย่างจะยังไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาโดยตรง แต่ควรนำมาไว้ใน Mind Map ก่อน ไม่แน่ว่าเวลาที่เขียนอาจเกิดการเชื่อมโยงไอเดียดีๆอีกก็ได้ ตัวอย่างเช่น ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้รับคีย์เวิร์ด “ลดความอ้วน” ในตอนแรกก็เขียนได้ลื่นไหล แต่เมื่อผ่านไปสัก 20 บทความก็เริ่มหมดมุก จนต้องหันไปพึ่งเจ้า Mind Map โดยใช้คำว่า “ขมิ้น” เมื่อหาข้อมูลก็พบว่าสมุนไพรตัวนี้เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการลดความอ้วนได้อย่างดี แถมยังไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย

จนกระทั่งได้บทความใหม่ที่มีชื่อว่า “ขมิ้น สูตรเด็ดลดความอ้วน” นั่นเอง เห็นหรือยังว่าการร่าง Mind Map เพื่อเขียนบทความไม่ใช่เรื่องยาก แถมได้ไอเดียดีๆเพิ่มขึ้นอีกตั้งหาก ใครที่หัวสมองเกิดตีบตันขึ้นมาก็ลองนำไปปรับใช้กันดู เชื่อว่าการใช้ Mind Map จะเป็นประโยชน์กับนักเขียนหลายคน รวมถึงนักเรียน นักศึกษาไม่มากก็น้อย เพราะได้รับการยืนยันจากผลการวิจัยมาแล้วว่าการทำงานด้วยการใช้ Mind Map จะช่วยสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆและกระตุ้นความจำของผู้ใช้งานได้อย่างดี

หาไอเดียเขียนบทความจาก facebook

เป็นหนึ่งในข้อมูลชั้นดีของการเขียนบทความ เพราะใน facebook จะเต็มไปด้วยความคิด คำคม ข้อมูล รวมทั้งเนื้อหาใหม่ๆของข่าวสารมาอัพเดทกันแบบเรียลไทม์ เพียงแค่ขยันอ่านและลองจดคำคม ความคิดมาใช้ (แต่ต้องไม่ลืมให้เครดิตเจ้าของโพสต์ด้วย) หรืออาจจะหาข้อมูลเพิ่มเติมในโซเชียลมิเดียนี้ แล้วนำมาต่อยอดความคิด สร้างสรรค์งานเขียนออกมาก็สามารถทำได้เช่นกัน วันไหนที่หมดมุกในการเขียนบทความ ลองเปิด facebook ดู นอกจากจะมีไอเดียดีๆในการเขียนแล้ว ยังช่วยผ่อนคลายจากการทำงานอีกด้วย

อ่านหนังสือ / นิตยาสาร เพิ่มคลังความรู้ให้สมอง  

การเขียนบทความไม่ใช่งานง่ายๆที่ใครก็สามารถทำได้ เพราะทุกๆถ้อยคำที่ได้ร้อยเรียงออกมา กว่าจะได้แต่ละบทต้องใช้พลังงานและสมองค่อนข้างเยอะ ยิ่งเจอบทความวิจัยหรือบทความวิชาการด้วยแล้ว บอกเลยว่า นักเขียนคนไหนที่ไม่ถนัดการเขียนบทความประเภทนี้จะปฏิเสธทันที เนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่ง จึงสามารถทำบทความเหล่านี้ออกมาได้อย่างมีคุณภาพ แต่ถ้าหากได้โจทย์ที่ท้าทายแบบนี้บ่อยๆ สิ่งหนึ่งที่นักเขียนควรทำคือ การอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มคลังความรู้ให้กับสมอง

ตัวอย่างเช่น หากได้รับคีย์เกี่ยวกับ “การลงทุน” บ่อยๆ แนะนำให้หาหนังสือพิมพ์ด้านเศรษฐกิจหรือหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนของนักลงทุนชื่อดังอย่าง Philip Arthur Fisher, Benjamin Graham, Paul Samuelson, Warren Buffett มาลองอ่านดู ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเป็นอาหารสมองของนักเขียน แถมยังเพิ่มพูนความรู้ไปในตัวอีกด้วย ไม่แน่ว่านอกจากจะได้ไอเดียใหม่ๆในการเขียนบทความด้านเศรษฐกิจและการลงทุนแล้ว อาจจะได้เป็นนักลงทุนอีกด้วยก็ได้ ใครจะไปรู้

หาข้อมูลจาก Google 

แน่นอนว่านักเขียนบทความทุกคนต้องเคยหาไอเดียและข้อมูลจาก Google เพราะเป็นช่องทางที่ง่าย สะดวกและมีคลังความรู้ให้ได้ค้นหาอีกเพียบ เพียงแค่นำคีย์เวิร์ดของบทความพิมพ์ลงใน Google หาข้อมูลจากหลายๆเว็บไซต์ แล้วคิดดูว่ามีอะไรบ้างที่ยังไม่มีคนนำมาเขียน มีเรื่องอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดแล้วคนมองข้าม มีอะไรบ้างที่น่าสนใจแต่ยังไม่อยู่ในคลังข้อมูลของ Google และลองนำมาร้อยเรียงเป็นบทความของตนเอง ใส่ไอเดียและแนวคิดของคุณลงไป เพียงเท่านี้ก็จะได้งานเขียนที่เป็นของตัวคุณเองแล้ว

ปิดเครื่องมือสื่อสาร

นักเขียนบทความหลายคนคงประสบปัญหา เขียนอยู่ดีๆก็ชักคันไม้คันมืออยากเล่นไลน์ อยากเล่น ROV อยากเข้าไปเช็ค facebook ทำให้งานเขียนที่กำลังเป็นรูปเป็นร่างเกิดสะดุด สำหรับใครที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้ แนะนำให้ปิดเครื่องมือสื่อสารและลงมือเขียนบทความอย่างจริงจัง หรือ ในกรณีที่มีลูกค้าโทรมา แนะนำให้ชี้แจงไปว่าสะดวกคุยงานกี่โมง ว่างเมื่อไร ลูกค้าจะได้ไม่รอเก้อและไม่ต้องเสียลูกค้าไปอีกด้วย วิธีนี้ ผู้เขียนทำแล้ว มีสมาธิในการเขียนงานและได้ผลมาก ใครที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ก็ลองนำไปปรับใช้กันดู

ทั้งหมดที่แนะนำในข้างต้น สามารถทำได้จริงและได้ผลมาแล้ว แต่สำหรับบางคนที่อาจจะใช้ไม่ได้ผลก็ลองออกไปเดินเล่น เที่ยวห้างสรรพสินค้าสักวัน เพื่อให้สมองปลอดโปร่งแล้วกลับมานั่งเขียนบทความอีกครั้ง ไม่แน่ว่าอาจจะได้ไอเดียดีๆกลับมาหลังจากพักผ่อนแล้วก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ การเขียนบทความ เป็นงานที่ต้องใช้สมาธิและพลังงานสมองสูง หากหักโหมทำงานทุกวัน ไม่พักผ่อน อาจจะเกิดผลกระทบกับร่างกายในระยะยาวได้ ดังนั้น ถ้าไม่อยากนำเงินที่ได้ไปให้หมอ ก็อย่าลืมรักษาสุขภาพกายและใจให้ดีกันด้วย


อาจารย์ต้น
อาจารย์ต้น

สวัสดีครับ ผมชื่ออาจารย์ต้น ผมรักการเขียนบทความ SEO มาตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันผ่านเว็บ articleheros.com ปัจจุบันสนใจค้นคว้า วิธีหาเงินออนไลน์ การลงทุนออนไลน์ และเขียนบทความแบ่งปันทุก ๆ คนในรูปแบบคู่มือ ที่คุณสามารถอ่านและเอาไปใช้งานได้จริง อย่าลืมกด subscription กันนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published.