ต้องบอกก่อนว่าจริงๆแล้ว การเขียนบทความไม่ได้มีสไตล์การเขียนที่ตายตัว แต่จะขึ้นอยู่กับข้อมูลและสำนวนของผู้เขียนแต่ละท่านเป็นหลักมากกว่าที่เป็นตัวตัดสินว่างานเขียนของคุณจะถูกใจผู้อ่านหรือไม่  อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถเขียนอะไรลงไปก็ได้ตามที่ต้องการ เพราะในบทความนี้จะกล่าวถึง 7 ข้อควรรู้ที่ไม่ควรใช้ในการเขียนบทความมาฝากผู้อ่านและนักเขียนหน้าใหม่ทุกท่านกัน บอกเลยว่าถ้าอยากให้บทความออกมามีคุณภาพแล้วละก็ แนะนำว่าต้องอ่านให้จบ

1.ตั้งชื่อบทความแบบขอไปที 

หรือเรียกง่ายๆก็คือ การตั้งชื่อหัวข้อที่ไม่น่าสนใจจนผู้อ่านส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่คลิกเข้าไปอ่านนั่นเอง เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญถ้าอยากให้คนอ่านสนใจบทความของคุณ ต้องเลือกที่จะตั้งชื่อให้ดูน่าสนใจ ซึ่งทริคง่ายๆที่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงเห็นอยู่เป็นประจำแถมยังดึงดูดผู้อ่านได้มากมาย นั่นคือ การตั้งชื่อหัวข้อให้มีตัวเลข เช่น 5 เคล็ดลับกินอย่างไรไม่อ้วน  3 เทคนิคพิชิตหุ่นสวย  10 วิธีป้องกันอันตรายเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น

เนื่องจากชื่อเรื่องเหล่านี้ จะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอยากรู้ อยากเห็นว่าไอ้ 3 วิธี / 5 วิธี / 10 วิธี ที่ว่ามานี้มีอะไรกันบ้าง จนต้องคลิกเข้าไปอ่านให้ได้

2.เว้นบรรทัดเป็นเรื่องสำคัญ

เคยมั้ยที่หลายครั้ง เวลาอ่านบทความที่ไม่มีการเว้นบรรทัดหรือเว้นบรรทัดที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้ผู้อ่านไม่เข้าใจในเนื้อหาที่อ่านหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนไป บางครั้งก็เจอบทความที่ยาวต่อๆกันแบบไม่มีพารากราฟ ซึ่งทำให้การอ่านค่อนข้างยากลำบากและขาดความสนใจขึ้นมาได้ ดังนั้น การเขียนบทความที่ดี ใน 1 พารากราฟควรมีประมาณ 4 – 5 บรรทัด แบ่งเป็นหัวข้อย่อยๆให้ผู้อ่านจับใจความได้อย่างสะดวก แต่ข้อควรระวังคือ อย่าเว้นเยอะเกินไป อย่างเช่น พารากราฟละ 2 บรรทัด เพราะผู้อ่านจะรีบคลิกออกทันที

3.ห้ามใช้ภาษาวิบัติ  

เนื่องจากภาษาวิบัติเป็นภาษาที่ต้องแปลความหมายอีกครั้งหนึ่ง ถ้าหากใช้ภาษาวิบัติติดกันเยอะๆก็จะส่งผลให้การแปลความหมายยากขึ้นไปอีก แม้ในหมู่วัยรุ่นจะเข้าใจได้ง่าย เพราะมีการใช้ภาษาวิบัติกันอย่างแพร่หลาย แต่ในทางกลับกัน อย่าลืมว่าผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตและเข้ามาอ่านบทความ ไม่ได้มีแค่กลุ่มวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังมีผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งหลายคนก็ไม่คุ้นชินกับคำศัพท์ดังกล่าว ทำให้ไม่เข้าใจเนื้อหาของบทความและมองว่าบทความไม่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้น ควรหันมาส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องกันจะดีกว่า

4.ไม่เขียนกำกวมหรือหวือหวาเกินไป  

ไม่ว่าจะเป็นบทความภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ หากบทความนั้นๆ ไม่สามารถสื่อสารได้ตรงประเด็นและไม่เป็นสาระแก่ผู้อ่าน บทความเหล่านี้ก็ถือเป็นบทความที่ขาดคุณภาพในตัวเอง โดยเฉพาะการเลือกใช้ภาษาที่หวือหวาและกำกวมจนเกินไป จะทำให้งานขาดความน่าเชื่อถือเอาได้ โดยเฉพาะบทความวิชาการที่จำเป็นจะต้องใช้ภาษาที่เป็นทางการแต่ดูเข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าถึงเนื้อหาสาระของบทความได้ง่ายขึ้น

5.อย่าเขียนบทความที่หาสาระไม่เจอ  

ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอบทความประเภทนี้มาเยอะหรือแม้กระทั่งบทความข่าวของสำนักข่าวบางแห่ง คลิกเข้าไปอ่านจนจบ สุดท้ายก็ไม่สามารถจับประเด็นหรือได้เนื้อหาสาระที่มากกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้บทความไม่มีคุณภาพแล้ว ยังส่งผลให้เว็บไซต์หรือตัวผู้เขียนดูน่าเชื่อถือน้อยลงอีกด้วย เพราะแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจเขียนบทความและไม่ตั้งใจที่จะค้นคว้าข้อมูลอย่างลึกซึ้ง แต่กลับเขียนมาเพื่อให้มีบทความลงอัพเดทในเว็บไซต์เท่านั้น สุดท้ายผู้อ่านก็จะเลิกติดตามไปในที่สุด

6.ระวังเรื่องการใช้รูปภาพ  

หากเขียนบทความสั้นๆประมาณ 300 – 500 คำ การใช้รูปภาพประกอบที่เหมาะสมกับเนื้อหาถือเป็นวิธีการที่ดีที่ทำให้บทความของคุณดูมีสีสันและน่าสนใจมากขึ้น แต่ข้อควรระวังคือ อย่าเยอะเกินไปจนเนื้อหาในบทความดูด้อยคุณค่าลง ยกเว้นแต่ว่าบทความเหล่านั้นเป็นบทความแนวรีวิว เพราะจำเป็นต้องใช้รูปเป็นองค์ประกอบให้ผู้อ่านเข้าถึงตัวสินค้าได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นบทความยาว 1,000 คำขึ้นไปและไม่ใช่แนวรีวิว ถ้าใช้รูปภาพเยอะ จะส่งผลให้ผู้อ่านตาลายและจับใจความของเนื้อหาได้ยากขึ้น

7.หลีกเลี่ยงการใช้คีย์เวิร์ดโดยไม่มีความหมาย  

กล่าวคือ หากเขียนบทความเพื่อทำ SEO แน่นอนว่า จำเป็นต้องมีคีย์เวิร์ดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ทั้งนี้ ต้องระวังไม่ให้การใช้คีย์เวิร์ดดูฟุ่มเฟือยและมากเกินความจำเป็น จนขาดการเชื่อมโยงที่ดี เพราะจะทำให้ผู้อ่านไม่สามารถจับใจความเนื้อหาได้อย่างถูกต้องและดูจงใจเขียนเชียร์สินค้าจนเกินไป อ่านแล้วขาดความเป็นธรรมชาติ (กรณีที่เป็นบทความรีวิวสินค้า) ดังนั้น การเขียนบทความที่มีคีย์เวิร์ด ควรวางโครงเรื่องและเทคนิคการเชื่อมคำให้ดีๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนทุกคนไม่ควรละเลย

ทั้งหมดนี้ก็คือ 7 ข้อควรรู้ในการเขียนบทความคุณภาพ ที่เรานำมาฝากผู้อ่านกันในวันนี้ ใครที่จะนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปใช้ก็ไม่ว่ากัน แต่สิ่งสำคัญคือ อย่าลืมหมั่นพัฒนาตนเองและเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆมาอัพเดทอยู่เสมอ เพราะบทความที่สดใหม่และการใช้สำนวนที่ถูกต้อง จะทำให้บทความมีคุณภาพและมีผู้อ่านติดตามมากขึ้น ผู้จ้างก็ประทับใจ แล้วคราวนี้คิวงานของคุณก็ยาวจนน่าตกใจเลยทีเดียว


อาจารย์ต้น
อาจารย์ต้น

สวัสดีครับ ผมชื่ออาจารย์ต้น ผมรักการเขียนบทความ SEO มาตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันผ่านเว็บ articleheros.com ปัจจุบันสนใจค้นคว้า วิธีหาเงินออนไลน์ การลงทุนออนไลน์ และเขียนบทความแบ่งปันทุก ๆ คนในรูปแบบคู่มือ ที่คุณสามารถอ่านและเอาไปใช้งานได้จริง อย่าลืมกด subscription กันนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published.