หลายคนคงทราบกันดีว่า การรับเขียนบทความภาษาอังกฤษ จะมีเรทราคาที่สูงกว่าบทความภาษาไทยมาก และบทความบางส่วนโดยเฉพาะบทความวิชาการจะมีอัตราที่แพงกว่าบทความทั่วไปถึง 2 เท่า เนื่องจากความยากของเนื้อหา คำศัพท์เฉพาะทาง รวมถึงรายละเอียดที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในด้านภาษาค่อนข้างเยอะ ทำให้นักเขียนหลายคนหันมารับงานเขียนบทความภาษาที่ 3 กันมากขึ้น แต่ทว่า…ก่อนที่จะรับเขียนบทความภาษาอังกฤษ มีบางอย่างที่จำเป็นต้องรู้เสียก่อน แต่จะมีอะไรกันบ้างนั้น ตามมาชมกันได้เลย
ไวยากรณ์ต้องแม่นยำ
แม้กูรูที่เชี่ยวชาญทางด้านภาษาอังกฤษหลายท่าน จะบอกว่า “ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะแม้แต่เจ้าของภาษายังใช้ผิด แต่สิ่งสำคัญคือ ความกล้าที่จะพูดต่างหาก” ประโยคนี้เป็นเรื่องจริง แต่เมื่อไรก็ตามที่มาอยู่ในงานเขียนบทความแล้ว ไวยากรณ์เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากมีการใช้ไวยากรณ์ที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของบทความได้ ดังนั้น นักเขียนที่ดีควรทบทวนเรื่องไวยากรณ์ให้แม่นยำอยู่เสมอ เพื่อให้งานเขียนของคุณมีคุณภาพและแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ
อ่านหนังสือเพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์
คำศัพท์ภาษาอังกฤษมีเป็นล้านคำที่เรายังไม่รู้ เพราะฉะนั้น การรู้จักใช้และจดจำคำศัพท์ ควรฝึกให้เป็นนิสัย เวลาที่เขียนบทความจะได้นำมาใช้งานได้อย่างหลากหลายและเหมาะกับบริบทของบทความ อย่าลืมว่าการใช้ภาษาอังกฤษในบทความทั่วไป บทความวิชาการและบทความที่เป็นข่าวสาร มักจะใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้งานเขียนมีถ้อยคำที่สวยงาม ถูกกาลเทศะและไม่ซ้ำซ้อนกันจนน่าเบื่อ ดังนั้น ควรหาหนังสือแนวที่ชอบอย่าง นวนิยาย / หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ มาอ่านเพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์ของตนเองกันด้วย
ตั้งชื่อให้มีความน่าสนใจ
เช่นเดียวกับบทความภาษาไทยที่จำเป็นต้องตั้งชื่อบทความให้ดูน่าอ่าน เห็นแล้วอยากคลิกเข้าไปอ่าน กดไลท์ กดแชร์ให้ผู้อื่นได้รับรู้ ซึ่งการตั้งชื่อบทความภาษาอังกฤษก็มีความยากกว่าบทความภาษาไทยมาก ทั้งในเรื่องของการใช้คำ รูปแบบไวยากรณ์ ความยาวที่ต้องไม่ยาวจนเกินไป หากใครที่ติดปัญหาเรื่องนี้อยู่ ผู้เขียนขอแนะนำเว็บไซต์ Linkbait Generator, HubSpot’s Blog Topic Generator, Portent’s Content Idea Generator และ Impact’s BlogAbout Title Generator
เว็บไซต์ทั้ง 4 เว็บที่ได้แนะนำในข้างต้น เหมาะกับการใช้งานในทุกรูปแบบ มีคลังคำศัพท์อยู่เยอะ ส่วนเรื่องไวยากรณ์ก็มีความสมบูรณ์แบบมาก วิธีใช้ก็ง่ายๆ เพียงแค่ใส่คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักในบทความลงไป เว็บไซต์ก็จะเสนอไอเดียชื่อของบทความมาให้เลือก แต่จะมีให้เลือกมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเรื่องที่เขียนเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีให้เลือกมากกว่า 5 แบบ ชอบแบบไหนก็สามารถเลือกนำมาใช้ได้เลย ไม่ติดลิขสิทธิ์แถมยังดาวน์โหลดมาใช้บริการได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย
เครื่องมือช่วยชีวิตที่ต้องรู้
หนึ่งในตัวช่วยที่นักเขียนบทความภาษาอังกฤษทุกคนต้องมีคือ Grammarly เป็นโปรแกรมที่ช่วยเช็คแกรมม่าให้กับผู้เขียนพร้อมกับแนะนำวิธีแก้ไขให้ถูกต้อง ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเขียนเอกสารหรือข้อความต่างๆลงไปในโปรแกรมได้เลยหรือจะใส่ลงไปเป็นไฟล์ Word ก็ได้ มันจะช่วยเช็คว่าบทความของเรามีความผิดตรงไหน กี่จุด ต้องปรับรูปแบบยังไง รวมถึงตัวอย่างของประโยคที่ถูกต้องและที่สำคัญโปรแกรมนี้ไม่ได้ตรวจเช็คแกรมม่าได้เพียงอย่างเดียว แต่สามารถบันทึกไฟล์งานของเราบนคลาวด์ได้อีกด้วย
สำหรับการโหลดมาใช้งานก็สามารถใช้งานได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายในเบื้องต้น กล่าวคือ หากเป็นการใช้งานที่ตรวจเช็คแกรมม่าธรรมดาก็สามารถใช้งานได้ฟรี แต่ถ้าหากต้องการคำศัพท์เฉพาะทางหรือทำบทความที่ต้องใช้คำศัพท์และไวยากรณ์ระดับสูงก็ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีระบุไว้ในโปรแกรม หากอยากรู้ว่าโปรแกรมนี้จะเทพขนาดไหนก็ลองสมัครใช้งานกันได้ โดยจะได้รับสิทธิ Premium ใช้งานได้ทุกฟังก์ชั่นฟรี 1 สัปดาห์ เป็นอีกโปรแกรมที่คนเขียนบทความภาษาอังกฤษไม่ควรพลาด
คอนเทนต์เป็นสิ่งสำคัญ
นอกเหนือจากความถูกต้องของไวยากรณ์และคำศัพท์แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้และสำคัญที่สุดคือ ตัวเนื้อหาในบทความ โดยบทความที่ใช้จะต้องสดใหม่ ไม่ซ้ำกับที่ไหน ไม่คัดลอกและละเมิดลิขสิทธิ์มาจากคนอื่น เนื้อหาที่ใช้มีความกระชับ ไม่ซ้ำซ้อน อ่านแล้วลื่นไหล เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน เพียงเท่านี้ โอกาสที่บทความของคุณจะติดอันดับใน Google ก็มีโอกาสสูงแล้ว ถ้าจะให้ดีควรเพิ่มรูปภาพที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาลงไปด้วยเพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่านและการเข้าใจเนื้อหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เริ่มที่ตัวคุณเอง
สำหรับคนที่อยากเขียนบทความภาษาอังกฤษ แต่ไม่รู้ว่าจะหาและฝึกฝนงานเขียนจากที่ไหน ผู้เขียนแนะนำให้เริ่มต้นง่ายๆด้วยการเขียนเรื่องราวในชีวิตประจำวันเป็นภาษาอังกฤษ ใช้คำศัพท์พื้นฐานที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนและนำบทความไปตรวจทานในเว็บไซต์ Hemingway ซึ่งเหมาะกับผู้ที่เริ่มเขียนบทความภาษาอังกฤษ เพราะใช้งานได้ง่ายและเหมาะกับบทความทั่วๆไป โปรแกรมนี้จะช่วยไฮไลท์คำผิดและแก้ไขให้ถูกต้อง รวมทั้งแนะนำการใช้คำที่สละสลวยให้กับผู้เขียนได้อีกด้วย
หลังจากที่อ่านบทความนี้จบแล้ว ก็อย่าลืมนำไปปรับใช้หรือเตรียมความพร้อมกันก่อนรับงานเขียน หากคิดไม่ออกหรือไม่มั่นใจคำศัพท์หรือไวยากรณ์ที่ใช้ก็สามารถตรวจสอบผ่านทาง Google หรือเว็บไซต์ตรวจเช็คไวยากรณ์ภาษาอังกฤษได้เลย มีให้เลือกใช้อีกเพียบ แต่สิ่งสำคัญคือ อย่าลืมพัฒนาคลังคำศัพท์และอัพเดทความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ เพียงเท่านี้คุณก็สามารถหาเงินได้ง่ายๆจากการเขียนบทความภาษาอังกฤษแล้ว