อาชีพรับจ้างเขียนบทความเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งแบบงานเสริมและงานประจำ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีนักเขียนหน้าใหม่เข้ามามากมาย ทำให้งานเขียนออกมามีคุณภาพบ้าง ไม่มีคุณภาพบ้าง รวมทั้งปัญหาต่างๆที่นักเขียนหน้าเก่าและหน้าใหม่ต้องเจออยู่เสมอ แต่จะมีอะไรกันบ้างนั้น วันนี้ ผู้เขียนขอมาแชร์ปัญหาที่นักเขียนบทความทุกคนต้องเจอมาฝากกัน

1.คนรอบข้างไม่เข้าใจ

อีกหนึ่งปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน แต่เสียสุขภาพจิตมากกว่า เพราะปัญหานี้ทำให้นักเขียนหลายท่านต้องเจ็บปวดได้ ผู้เขียนเองก็เคยเจอ เมื่อมีคนถามว่า ทำอะไรและตอบกลับไปว่า เป็นนักเขียน แล้วคนถามคงนึกถึงประโยค นักเขียนไส้แห้งที่ทำงานง่ายๆก็ได้เงิน แต่แท้จริงแล้ว งานเขียนบทความ มันยากกว่านั้นเยอะ ทั้งการหาข้อมูล การคุยงานกับลูกค้าที่มีอยู่หลากหลายแบบ ความยากง่ายของเนื้อหาในบทความ ซึ่งใครที่ไม่ได้อยู่ในวงการ คุณจะไม่รู้เลยว่า กว่าจะได้บทความที่มีคุณภาพออกมา มันยากขนาดไหน

นอกจากนี้ หลายคนมองว่า อาชีพ รับเขียนบทความ เป็นอาชีพที่ไส้แห้ง ได้เงินน้อย แต่เปล่าเลย หากคุณมีฝีมือดี มีวินัยในการทำงาน ทำบทความออกมาอย่างมีคุณภาพ ลูกค้าจะไม่หนีหายไปไหนแน่นอน แถมยังบอกปากต่อปากให้กับผู้จ้างท่านอื่นได้ทราบอีกด้วย แต่สำหรับนักเขียนหน้าใหม่อาจจะต้องขยันหาลูกค้าและได้เรทราคาที่ต่ำสักหน่อย เพราะยังไม่มีประสบการณ์มากนัก แต่เชื่อเถอะว่า หากมีผลงานมากขึ้น ค่าตัวของนักเขียนจะเยอะขึ้นอย่างแน่นอน บางราย เดือนหนึ่งได้ 50,000 – 60,000 บาทเลยก็มี

2.อยู่ทำงานจนดึกดื่น จนเสียสุขภาพ 

เป็นปัญหาหลักของนักเขียนบทความทุกคนเลยก็ว่าได้  โดยเฉพาะเวลาที่ใกล้ถึงเดตไลน์ / เวลาที่รับงานเข้ามาเยอะๆ หรือ เวลารับงานด่วนที่ต้องส่งแบบวันต่อวัน ทำให้ต้องเร่งเคลียบทความส่งให้ตรงเวลา นักเขียนส่วนมากจึงต้องทำงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้งานเสร็จทันกำหนด ลูกค้าจะได้ไม่ต้องเสียเวลารองานและไม่เสียเครดิตของนักเขียน เมื่อทำพฤติกรรมแบบนี้ไปเรื่อยๆ ร่างกายก็จะทรุดโทรมลง จนในที่สุดเงินที่ได้มาจากการเขียนบทความ ก็ต้องไปให้คุณหมอแทน

คำแนะนำ ควรจัดตารางงานให้รอบคอบ งานไหนด่วน งานไหนต้องส่งวันต่อวัน งานไหนส่งสิ้นเดือน การทำแบบนี้จะทำให้คุณรู้ว่าต้องทำบทความใดก่อน บทความใดทำทีหลัง แต่ทั้งนี้ ต้องมีวินัยกับตนเองด้วย ถ้าจัดตารางไป แต่ไม่ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็จะทำให้เสียทั้งงานและเสียเครดิตของเราไปด้วย

3.คิดเนื้อหาไม่ออก

สิ่งที่นักเขียนทุกคนต้องเคยเผชิญ เวลาที่ได้เขียนบทความยาวๆและมีจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ได้คีย์ “ลดความอ้วน” จำนวน 40 บทความ ช่วงแรกๆการเขียนก็ลื่นไหล เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนและมีความถนัดมาก แต่เมื่อเขียนไปได้สัก 30 บท ก็เริ่มตันและคิดไม่ออกว่าจะเริ่มเนื้อหาใหม่ๆแบบไหนดี ลองเขียนไปก็วนกลับแต่เนื้อหาเดิม ความหมายซ้ำกันไปมา จนทำให้เสียเวลาในการเขียนไปหลายชั่วโมงหรือบางครั้งก็เป็นวัน

คำแนะนำ หากใครที่เผชิญกับปัญหานี้อยู่ ให้ออกไปเดินเล่น เดินเที่ยว ดูหนังฟังเพลง เพื่อผ่อนคลายสัก 2 – 3 ชั่วโมง แล้วไอเดียดีๆก็จะตามมาเอง แต่ถ้าหากยังคิดไม่ออก ลองพักการเขียนบทความสัก 1 วันแล้วค่อยกลับมาเขียน ให้สมองได้เรียบเรียงข้อมูลและเนื้อหาใหม่ๆอีกครั้ง เชื่อเถอะว่าจะต้องคิดเนื้อหาสาระดีๆออกอย่างแน่นอน เพราะผู้เขียนเคยทำมาแล้ว

4.แก้ไขไม่รู้จบ

เคยมั้ย เวลาที่เขียนบทความแล้วต้องมานั่งลบๆแก้ๆอยู่เรื่อยๆ จนต้องเสียเวลาไปครึ่งวัน หากใครที่กำลังเผชิญปัญหานี้ แนะนำว่า เมื่อเขียนบทความจบแล้ว ให้ทิ้งต้นฉบับไว้สัก 1 วันแล้วค่อยกลับมาอ่านใหม่ หรือ สักอาทิตย์สองอาทิตย์ สำหรับคนที่มีเวลาเขียนบทความนาน การทำแบบนี้จะช่วยให้เราห่างหายจากบทความไปบ้าง เมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งจะทำให้มองเห็นข้อบกพร่องของชิ้นงานตนเองได้ดีขึ้น

5.ปัญหาการสะกดคำ 

ผู้เขียนเคยเจอนักเขียนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่หลายท่าน สะกดคำทับศัพท์ไม่ถูกเป็นจำนวนมาก อาจจะด้วยความไม่รู้หรือรับงานเยอะเกินไป จนไม่มีเวลาตรวจทานความถูกต้อง ทำให้บทความเหล่านั้น แม้จะมีคุณภาพดี แต่เมื่ออ่านแล้วเกิดสะดุดกับคำผิดเหล่านี้ อาจทำให้ผู้อ่านเสียอรรถรสได้ ดังนั้น เมื่อเขียนบทความเสร็จ ควรให้เวลาบทความนั้นๆอีกสักหน่อย นั่งอ่านไปทีละบรรทัด รับรองว่าคุณจะต้องเจอจุดบกพร่องอย่างแน่นอน

คำแนะนำ สำหรับใครที่ไม่แน่ใจในการใช้คำทับศัพท์หรือคำศัพท์บางประเภท ให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของ ราชบัณฑิตยสถาน มาไว้ในมือถือ เมื่อไม่มั่นใจในคำไหน คุณก็สามารถเปิดหาคำศัพท์ในหมวดหมู่ต่างๆได้เลย ถูกต้องแบบ 100 %

นี่คือ ปัญหาที่นักเขียนบทความทุกท่านต้องเจอหรือบางรายกำลังประสบอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าปัญหาเหล่านี้จะแก้ไขไม่ได้ หากหมั่นเขียนงานอย่างสม่ำเสมอ ตัวนักเขียนเองจะมีทักษะและความรู้เพิ่มขึ้น สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเองได้ เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังอยากเป็นนักเขียน ลองถามตัวเองสิว่า ตัวคุณนั้นพร้อมจะรับกับปัญหาเหล่านี้หรือยัง


อาจารย์ต้น
อาจารย์ต้น

สวัสดีครับ ผมชื่ออาจารย์ต้น ผมรักการเขียนบทความ SEO มาตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันผ่านเว็บ articleheros.com ปัจจุบันสนใจค้นคว้า วิธีหาเงินออนไลน์ การลงทุนออนไลน์ และเขียนบทความแบ่งปันทุก ๆ คนในรูปแบบคู่มือ ที่คุณสามารถอ่านและเอาไปใช้งานได้จริง อย่าลืมกด subscription กันนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published.