สมัยนี้การเขียนบทความได้รับความนิยมกันมาก เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องก็สามารถเป็นนักเขียนได้แล้ว ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ส่วนใหญ่ ผู้จ้างจะรู้จักนักเขียนผ่านสื่อ สิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่ทว่า…ทุกอย่างก็เหมือนดาบสองคม เพราะด้วยความง่ายและสะดวกสบายของการมีเทคโนโลยี ทำให้เกิดนักเขียนขึ้นมามากมาย ทั้งนักเขียนที่มีคุณภาพและนักเขียนสมัครเล่นที่บางครั้งก็ทำให้วงการนี้เสื่อมเสียชื่อเสียงอยู่ไม่น้อย วันนี้ ในฐานะรุ่นพี่จึงขอพามาดู 7 ข้อห้ามทำ เมื่อรับเขียนบทความ มาฝากนักเขียนมือใหม่ทุกท่านกัน

ห้ามใช้ความคิดสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว

แม้การใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเขียนลงในบทความจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้บทความมีความสดใหม่และน่าค้นหา อย่างไรก็ตาม มีบทความบางประเภทที่นักเขียนไม่สามารถใช้เพียงความคิดสร้างสรรค์ได้ นั่นคือ บทความวิชาการ เพราะบทความประเภทนี้ จำเป็นต้องใช้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและถูกต้อง นำมาเขียนลงในบทความ เพื่อให้ดูมีน้ำหนักและสามารถนำไปเผยแพร่ได้ โดยที่ไม่ส่งผลเสียต่อผู้อ่านที่จะนำไปใช้ต่อ แต่ที่สำคัญคือ อย่าลืมให้เครดิตของแหล่งข้อมูลที่นำมาด้วย นั่นจึงเป็นการเขียนบทความวิชาการที่ดี

ข้อแนะนำ การเขียนบทความวิชาการ มีความยากและใช้คำศัพท์ที่เป็นทางการ ดังนั้น ก่อนนักเขียนจะรับงาน ควรไตร่ตรองให้ดีก่อนว่า บทความประเภทนี้ เรามีความถนัดหรือไม่ เพราะต้องหาข้อมูลและนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งซับซ้อนกว่าบทความทั่วไปมาก จึงทำให้งานเขียนประเภทนี้มีราคาแพงและหานักเขียนมารับงานได้ยากกว่างานเขียนแบบอื่นๆ

ห้ามใช้ประโยคฟุ่มเฟือยและไร้ความหมาย

การเขียนบทความที่มีคุณภาพ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ประโยคที่ดูไร้ความหมายหรือไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทความ เพราะจะทำให้ผู้อ่านงงและรู้สึกเบื่อหน่ายเอาได้ โดยเฉพาะบทนำ ซึ่งเป็นพารากราฟแรกที่ผู้อ่านทุกคนจะเห็น การเกริ่นบทนำ ควรบ่งบอกถึงเนื้อหาคร่าวๆที่อยู่ในบทความพร้อมปิดท้ายด้วยประโยคที่เชิญชวนให้เข้ามาอ่าน เรียกง่ายๆก็เหมือน สะพานสู่เนื้อหาถัดไป ดังนั้น หากมีบทนำที่ดี ก็เหมือนมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

ห้าม Copy

เชื่อว่าผู้จ้างและคนในวงการนักเขียนหลายคน คงเคยประสบปัญหานี้กันนับครั้งไม่ถ้วน เมื่อเจอนัก Copy สวมรอยใช้บทความของคุณทำมาหากิน หากบทความนั้นเป็นบทความที่อ่านแล้วนำมาจับใจความใหม่ ผู้จ้างหลายท่านยังรับได้ แต่บางรายก็ Copy วางโดยที่ไม่แก้ไขอะไรเลย ตั้งแต่ชื่อเรื่องจนถึงบทสรุป แถมยังไม่ให้เครดิตอีกต่างหาก ใครที่ยังทำแบบนี้ แนะนำให้เลิกซะเถอะ เพราะนอกจากไม่ส่งผลดีต่อตัวคุณเองแล้ว ยังสร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการนักเขียนอีกด้วย

ห้ามนำบทความไป Reuse

เรียกง่ายๆก็คือ การนำกลับมาใช้ใหม่นั่นเอง ตัวอย่างเช่น เมื่อเขียนส่งให้ผู้จ้างอีกคนไปแล้ว ก็นำบทความฉบับเดิมขายต่อให้กับผู้จ้างรายอื่น หรือ บางคนก็นำบทความที่เขียนส่งให้ลูกค้าไปอัพเดทในเว็บไซต์ของตนเองก็มี พฤติกรรมแบบนี้ ส่งผลเสียต่อวงการนักเขียนบทความอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้ลูกค้าไม่เชื่อใจนักเขียนคนอื่นๆไปด้วยแล้ว ยังส่งผลให้ตัวคุณเองกลายเป็นนักเขียนที่ไม่มีคุณภาพและอาจโดนประจานผ่านโซเชียลมีเดียทำให้เสียชื่อเสียงอีกก็เป็นได้

เก็บเงิน แต่ไม่ส่งบทความ 

วงการนี้บางครั้งมิจฉาชีพก็มาในคราบของผู้จ้าง อยากได้บทความ แต่ก็ไม่อยากจ่ายเงิน ทำให้นักเขียนส่วนใหญ่จำเป็นต้องเก็บเงินผู้จ้างเพื่อความปลอดภัยของนักเขียนก่อน อย่างน้อยก็มั่นใจว่า เมื่อทำเสร็จ ลูกค้าจะไม่หนีหายไปไหน แต่ในทางกลับกัน มีนักเขียนส่วนหนึ่งที่เก็บเงินจากผู้จ้างไปแล้ว กลับหายไปกับสายลม ทำให้ผู้จ้างหลายคนต้องหัวเสียและหวาดระแวง จนไม่ยอมจ่ายเงินให้กับนักเขียนคนอื่นๆก่อน ทำให้นักเขียนฝีมือดีบางรายต้องเสี่ยงกับการเขียนบทความฟรี เสียเวลา เสียความรู้สึกแถมยังไม่ได้เงินอีกต่างหาก

ห้ามลืมบทสรุป 

การเขียนบทความ บทสรุปของเนื้อหาเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรลืม แต่ก็มีนักเขียนหลายคนมักหลงลืมส่วนนี้ไป ทั้งๆที่เป็นพารากราฟสำคัญที่ตัวนักเขียนสามารถแสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างเต็มที่ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ใช่การเสนอความคิดใหม่หรือพูดซ้ำกับสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วในเนื้อหา เพราะจะดูจำเจและฟุ่มเฟือยเกินไป แต่ควรเป็นการสร้างความประทับด้วยการทิ้งข้อคิด / คำคม / ประโยคเห็นด้วยหรือประโยคปิดท้ายให้ผู้อ่านได้คิดตามจะดีที่สุด

ห้ามตัดต่อบทความ  

คล้ายๆกับการ Copy แต่อันนี้จะอัพเกรดการตรวจสอบที่ยากขึ้นมาหน่อย เพราะเป็นการคัดลอกหัวข้อย่อยๆ ของบทความประมาณ 3 – 4 บทความแล้วนำมายำรวมกัน ทำให้กลายเป็นบทความใหม่ขึ้นมา ขอบอกไว้ก่อนว่า การทำแบบนี้โปรแกรมตรวจสอบการคัดลอก อาจไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ผู้อ่านหรือผู้ที่เขียนบทความนั้นๆขึ้นมา ย่อมจำได้อย่างแน่นอน ว่าพารากราฟนี้เป็นของเรา เพราะบทความก็เหมือนลายเซ็นที่ต่อให้ดัดแปลงอย่างไร เจ้าของลายเซ็นก็ย่อมรู้อยู่ดี เพราะฉะนั้น เลิกพฤติกรรมเช่นนี้ดีกว่า ก่อนจะถูกฟ้องร้องเอาได้

สุดท้ายนี้ การเขียนบทความไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่หมั่นพัฒนาตนเอง อัพเดทข่าวสารและความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ เพียงเท่านี้ผู้จ้างหลายท่านก็ไม่หนีหายไปไหนแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือ ความซื่อสัตย์ที่มีให้กับลูกค้า คุณสามารถทำให้ได้หรือเปล่า…


อาจารย์ต้น
อาจารย์ต้น

สวัสดีครับ ผมชื่ออาจารย์ต้น ผมรักการเขียนบทความ SEO มาตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันผ่านเว็บ articleheros.com ปัจจุบันสนใจค้นคว้า วิธีหาเงินออนไลน์ การลงทุนออนไลน์ และเขียนบทความแบ่งปันทุก ๆ คนในรูปแบบคู่มือ ที่คุณสามารถอ่านและเอาไปใช้งานได้จริง อย่าลืมกด subscription กันนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published.