การเขียนบทความไม่ได้จำกัดอยู่ที่บทความทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบทความวิจัย บทความวิชาการ บทความที่ต้องใช้ความสามารถทางภาษา ซึ่งบางครั้งบทความทั่วๆไปอย่างสุขภาพ ความสวยความงาม การดูแลตนเอง ผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆคนก็มีความถนัดและมีคลังข้อมูลเป็นของตนเองที่สามารถเขียนออกมาได้เลย แต่ทว่า…บางครั้งก็จะมีบทความบางประเภทที่ไม่ค่อยถนัดหรือไม่ค่อยได้พบเจอบ้าง หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น นักเขียนบทความอย่างเราจะทำอย่างไร ตามผู้เขียนมาดูกันได้เลย

ค้นคว้าจากในหนังสือ

สำหรับบทความบางประเภทโดยเฉพาะด้านวิชาการ ทฤษฎีและปรัชญา บางครั้งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตจะไม่ค่อยละเอียดเท่ากับข้อมูลในหนังสือที่เขียนโดยนักวิชาการ นักเขียนบทความจึงควรค้นคว้าข้อมูลที่อยู่ในหนังสือด้วย เพื่อให้บทความมีความเกี่ยวข้องและมีข้อมูลที่อัพเดททันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้ก็มีห้องสมุดมากมายที่ให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการได้ฟรี เช่น ห้องสมุดประจำจังหวัด ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย เชื่อเถอะว่าหากไปแล้วคุณจะได้แหล่งข้อมูลที่ยอดเยี่ยมเพิ่มขึ้นอีกเพียบ

หาความรู้เพิ่มเติม  

สิ่งหนึ่งสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเขียนบทความทุกคนคือ การพัฒนาตนเองและหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่รับเขียนบทความภาษาอังกฤษ จำเป็นต้องศึกษาถึงการใช้ไวยากรณ์ รากศัพท์ ศัพท์เฉพาะทาง รวมถึงคำแสลงต่างๆเอาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยให้งานเขียนของคุณ เมื่ออ่านแล้วดูมีอรรถรส ถูกต้องตามบริบทของเนื้อหา ทำให้บทความมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะผู้ที่อ่านบทความภาษาอังกฤษ นอกจากจะมีชาวไทยแล้วยังมีชาวต่างชาติซึ่งเป็นเจ้าของภาษาอีกด้วย

อินเทอร์เน็ต ความรู้ที่ไม่สิ้นสุด

เมื่อได้รับหัวข้อที่ไม่คุ้นเคย สิ่งหนึ่งที่ทำได้ง่ายและสะดวกที่สุดคือ การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต แต่ข้อควรรู้คือ การเลือกใช้ข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น บทความเกี่ยวกับสงคราม สำนักข่าวที่ได้รับความนิยมและมีความน่าเชื่อถือในการนำมาใช้เป็นข้อมูล อาทิ BBC CNN Al Jazeera Russia AFP ฯลฯ ซึ่งแหล่งข่าวต่างประเทศที่ได้กล่าวมา ล้วนได้รับความนิยมในระดับโลกและมีข้อมูลที่อัพเดททันต่อสถานการณ์แบบเรียลไทม์ ทำให้บทความดูสดใหม่และไม่น่าเบื่อสำหรับผู้อ่าน

ฝึกเขียนให้มีความชำนาญ 

แน่นอนว่าไม่มีใครที่ถนัดเขียนบทความได้ทุกประเภท แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถพัฒนาได้คือ การฝึกเขียน ฝึกขัดเกลาบทความของคุณให้ดูน่าอ่าน แถมยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้กับตัวคุณเองอีกด้วย ส่วนวิธีการก็สามารถทำได้ง่ายๆคือ ลองนึกถึงหัวข้อที่ตนเองไม่ถนัดแล้วลองนำมาเขียนดู หาข้อมูลจากหลายๆแหล่ง เช่น อินเทอร์เน็ต หนังสือ ประสบการณ์ที่ตนเองได้พบเจอ เป็นต้น แต่อย่าลอกมา แล้วลองนำมาวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลออกเป็นส่วนๆ อธิบายตามความคิดเห็นของตนเองก็จะทำให้เรียบเรียงข้อมูลออกมาได้ง่ายขึ้น

ทราบว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร 

การทราบถึงอายุ เพศ กลุ่มเป้าหมายจะทำให้นักเขียนทราบว่าแนวทางและภาษาของเนื้อหาในบทความควรเป็นไปในทิศทางไหน เพราะแต่ละช่วงวัยจะใช้ภาษาที่ไม่เหมือนกัน หากบทความที่เราเขียนมีผู้อ่านเป็นนักธุรกิจและนักวิชาการเยอะก็ควรใช้ภาษาที่เป็นทางการ ดูน่าเชื่อถือ ไม่ใส่ศัพท์วัยรุ่นเข้าไปให้ดูน่าปวดหัว แต่ถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นอย่างการเขียนบทความแนวแฟชั่น บันเทิง ก็ควรเขียนให้ดูเป็นกันเอง ในขั้นตอนนี้อาจใช้ศัพท์วัยรุ่นที่เป็นที่นิยมผสมลงไปในบทความด้วยก็ได้

ข้อควรระวัง บางครั้งแม้จะเป็นบทความแนววัยรุ่น แต่ผู้จ้างอาจต้องการเนื้อหาที่ใช้คำศัพท์แบบทางการด้วย ดังนั้น ก่อนรับงานทุกครั้งควรสอบถามก่อนว่าต้องการให้เขียนในแนวทางใด เพราะบางแนวทาง นักเขียนบางท่านก็ไม่ได้มีความถนัดมากนัก โดยเฉพาะการเขียนบทความแบบเล่าเรื่อง แม้จะดูเป็นเรื่องที่ง่าย แต่จริงๆแล้ว บทความแนวนี้ยากที่สุด เพราะผู้เขียนจะต้องทำความเข้าใจกับเรื่องที่จะเขียนมาเป็นอย่างดี

หากทำไม่ได้ก็ไม่ควรรับ  

หากบทความนั้นๆมีความยากเกินกว่าจะเขียนออกมาได้ ก็ควรตอบกลับลูกค้าไปตามตรงจะดีกว่า อย่ารับเขียนมาแบบสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะถ้าทำได้ไม่ดีจะส่งผลให้ตัวนักเขียนต้องเสียเครดิต รวมทั้งลูกค้าท่านนั้นไป ไม่ใช่แค่บทความภาษาไทยเท่านั้น แต่บทความภาษาอังกฤษก็เช่นกัน ไม่ใช่ใครก็ได้ที่สามารถเขียนบทความภาษาอังกฤษออกมาได้อย่างดีเยี่ยม แต่ต้องมีทักษะทางด้านภาษาและความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆเป็นอย่างดี เพราะคุณต้องเผชิญกับแกรมม่า รากศัพท์ คำแสลงที่จะตามมาอีกมากมาย

ตรวจสอบข้อมูลที่เขียนให้ถูกต้อง                                                                                                                                         

เมื่อเขียนบทความเสร็จเรียบร้อย ขั้นตอนสุดท้ายที่ต้องไม่ลืมคือ การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ เนื้อหา บทสรุป แหล่งข้อมูลที่นำมาใช้ว่ามีความน่าเชื่อและได้อ้างอิงแล้วหรือไม่ เพื่อเป็นการให้เกียรติต่อนักเขียนท่านอื่น แต่ทางที่ดีบทความที่เขียนควรเป็นบทความที่สดใหม่ ไร้การคัดลอก เพราะจะส่งผลดีต่อการจัดอันดับใน Google ของเว็บไซต์ลูกค้าด้วยและยิ่งเป็นการเพิ่มเครดิตที่ดีให้กับนักเขียนไปในตัว ซึ่งจะทำให้มีงานอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย

อย่างไรก็ตาม การเขียนบทความไม่ว่าจะเป็นบทความประเภทใด จะถนัดหรือไม่ถนัดก็ควรทุ่มเททำอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อมีลูกค้ามาจ้างนักเขียนแล้ว นั่นหมายความว่าเขาไว้วางใจในฝีมือและชื่อเสียงของคุณว่าจะทำบทความออกมาได้อย่างดี ดังนั้น ก็อย่าลืมขอบคุณความไว้วางใจนี้ผ่านงานเขียนที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าและผู้อ่านทุกท่านกันด้วย

 


อาจารย์ต้น
อาจารย์ต้น

สวัสดีครับ ผมชื่ออาจารย์ต้น ผมรักการเขียนบทความ SEO มาตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบันผ่านเว็บ articleheros.com ปัจจุบันสนใจค้นคว้า วิธีหาเงินออนไลน์ การลงทุนออนไลน์ และเขียนบทความแบ่งปันทุก ๆ คนในรูปแบบคู่มือ ที่คุณสามารถอ่านและเอาไปใช้งานได้จริง อย่าลืมกด subscription กันนะครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published.